ตำนานโน่และตำนานธงตะขาบ

ตำนานโน่


        ธงผ้าผืนยาวที่ชาวมอญแห่ไปถวายเป็นพุทธบูชาที่เสาหงส์ในเทศกาลสงกรานต์นั้น เรียกว่า โน่ (โหน่) มาจากตำนานของชายยากจนเข็ญใจต้องการถวายสิ่งของแด่พระพุทธเจ้า ด้วยความยากจนจึงนำผ้าห่มเก่าของตนมาทำเป็นธงผืนยาวเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วยจิตอันบริสุทธิ์ เมื่อเสียชีวิตลงชายผู้นี้ก็ได้ไปเกิดเป็นพระราชา พรั่งพร้อมด้วยชาติตระกูล รูปสมบัติ และทรัพย์สมบัติ อันแสดงให้เห็นถึงอานิสงส์ของศรัทธาต่อพระศาสนา 

ตำนานธงตะขาบ
        ตามตำนานกล่าวไว้ว่า มีพระฤๅษี ๔ ตน เป็นสหายกัน บำเพ็ญตบะอยู่บนยอดเขา ๔ แห่ง และสัญญากันว่าในทุกปีจะชูธงขึ้นเหนือยอดเขาเพื่อให้ฤๅษีอีก ๓ ตนทราบว่ายังมีชีวิตอยู่ มิได้ตายจาก หรือหนีไปบรรลุมรรคผลตามลำพัง ต่อมาฤๅษีตนหนึ่งสิ้นชีวิตลง ได้ไปเกิดเป็นพระราชา อยู่มาเกิดประชวรหนักรักษาไม่หาย โหรหลวงได้ทูลความแต่ในอดีตชาติที่เป็นพระฤๅษีว่า พระองค์ได้เสียสัตย์ต่อพระฤๅษีทั้งสาม ต้องไปขอขมาเสีย พระราชาจึงให้จัดกระบวนเรือเสด็จไปขอขมาพระฤๅษี อาการประชวรจึงหายไป
        ขากลับพระราชาได้พบงาช้างกองมหึมาจึงสั่งให้ทหารขนลงเรือกลับพระราชวัง งาช้างนั้นเป็นของพญาตะขาบ ซึ่งเมื่อพญาตะขาบกลับมาไม่พบงาช้างของตน จึงได้ออกติดตาม พญาตะขาบตามมาทันขบวนเรือพระราชาที่กลางมหาสมุทรซึ่งมีปูยักษ์นอนแผ่ก้ามอยู่ เรือของพระราชาแล่นหนีไปโดยเร็ว และผ่านกลางก้ามปูยักษ์รอดไปได้ ทว่าพญาตะขาบซึ่งตัวใหญ่และมีขามากยาวรุงรังหนีไม่พ้น ถูกปูยักษ์หนีบเสียชีวิต
        เมื่อเห็นดังนั้นฝ่ายพระราชาจึงสำนึกถึงบาปกรรมที่ได้ก่อขึ้น ทั้งลักขโมย และยังทำให้เจ้าของถึงแก่ชีวิต เมื่อกลับถึงพระราชวังจึงรับสั่งให้นำงาช้างที่ได้มานั้นสร้างเป็นหอคอยงาช้างสูง ๗ ชั้น แล้วทำธงแขวนไว้เหนือหอคอยนั้น เพื่อรำลึกถึงพญาตะขาบ ตำนานธงตะขาบจึงเป็นเรื่องราวของการไถ่บาป ดังนี้


ความคิดเห็น