ชาวมอญเป็นใคร ?

         ชาวมอญเป็นชนเผ่ามองโกลอยด์ มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตะวันตกของประเทศจีน ภาษามอญจัดอยู่ในตระกูลมอญ-เขมร (Mon-Khmer) คนมอญเรียกตนเองว่า รมัน” (Reman) แล้วจึงเพี้ยนมาเป็น มอญ ส่วนชื่อประเทศของตนเองชาวมอญเรียกว่า รามัญประเทศส่วนคนพม่ามักเรียกมอญว่า ตะเลง
          ชาวมอญอพยพจากประเทศจีนลงมาทางใต้ แล้วตั้งอาณาจักรขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดีในบริเวณพม่าตอนล่าง ตลอดช่วงระยะเวลากว่า ๗๐๐ ปีของอาณาจักรนั้น ชาวมอญต้องทำศึกกับพม่าอยู่เสมอ จึงได้พากันทยอยอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย



          ดังปรากฏหลักฐานในจารึกโบราณว่า ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ชนชาติปยู (Pyu) ตั้งอาณาจักรอยู่ ณ ลุ่มแม่น้ำอิรวดีซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองแปรในปัจจุบัน อาณาจักรปยู ก็คือ อาณาจักรศรีเกษตร อยู่ทางทิศตะวันตกของอาณาจักรทวารวดี มีชนชาติพม่าตั้งอาณาจักรอยู่ทางตอนเหนือ และชนชาติมอญตั้งอาณาจักรอยู่ทางตอนใต้
          ชาวปยูนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท อาณาจักรปยูเจริญรุ่งเรืองอยู่ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง ระหว่างนั้นเองพม่าได้เริ่มมีความสัมพันธ์กับมอญ พร้อมทั้งรับเอาอารยธรรมความเจริญต่างๆ ของมอญไว้ด้วย รวมถึงการนับถือพระพุทธศาสนา และการใช้ตัวอักษรบันทึกเรื่องราวต่างๆ ซึ่งมอญได้รับถ่ายทอดมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง
          อาณาจักรปยูเสื่อมอำนาจลงและเคลื่อนย้ายถิ่นไป อาณาจักรมอญซึ่งอยู่ทางตอนใต้ก็ได้ขยายอาณาเขตออกไปทางทิศตะวันตก มีศูนย์กลางอาณาจักรอยู่ที่เมืองพะโค หรือหงสาวดี อาณาเขตของมอญในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔ นี้ น่าจะครอบคลุมไปถึงบริเวณตลอดชายฝั่งทะเลของอ่าวเมาะตะมะ และทะเลอันดามัน
          ศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมมอญในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงก่อนสร้างเมืองพะโคในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ นั้น ไม่ได้อยู่ในบริเวณตอนใต้ของอาณาจักรปยูและพม่า หลักฐานที่ได้ในการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบันแถบจังหวัดราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ลพบุรี และนครสวรรค์ ทำให้ทราบได้แน่ชัดว่า บริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรทวารวดี มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
          เนื่องจากได้พบจารึกภาษามอญโบราณในภูมิภาคต่างๆ ของอาณาจักรทวารวดี จึงเชื่อได้ว่าในอาณาจักรทวารวดีมีกลุ่มชนที่ใช้ภาษามอญกระจายอยู่ทั่วไป
          ความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติมอญในอาณาจักรทวารวดีกับชนชาติมอญที่ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณตอนใต้ของอาณาจักรปยูในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔ น่าจะเป็นในฐานะที่มีเชื้อชาติเดียวกันเท่านั้น แต่ต่างแยกการปกครองตนเองเป็นกลุ่มเมืองใหญ่น้อย มีความสัมพันธ์ต่อกันภายใต้อารยธรรม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 
          ชนชาติมอญเป็นกลุ่มชนใหญ่ที่นับถือพระพุทธศาสนา มีการดำรงชีวิต และขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง


          ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นต้นมา ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ กลุ่มชนชาติมอญแถบลุ่มแม่น้ำสะโตง หรือมอญที่อยู่ตอนใต้ของอาณาจักรปยูได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองพะโค หรือหงสาวดี เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร และมีความสัมพันธ์กับพม่ามากขึ้น
          ส่วนชนชาติมอญทางแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ได้เคลื่อนย้ายขึ้นไปทางตอนเหนือจนถึงลุ่มแม่น้ำปิง และได้สร้างเมืองหริภุญไชยสืบต่อกันมาโดยลำดับ
          จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พระยายีบา กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรหริภุญไชยได้เสียอำนาจการปกครองให้แก่พระยามังรายแห่งอาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ ตามจารึกวัดเชียงมั่น    อาณาจักรหริภุญไชยจึงสิ้นสุดลงนับแต่นั้นเป็นต้นมา
         ศูนย์กลางความเจริญของอาณาจักรมอญระยะแรกมีหลายแห่งคือ
           สะเทิม (Thaton)  ทวันเท (Twante) ทะละ (Dala) และ หงสาวดี (Pegu)
          แต่ละเมืองเป็นอิสระต่อกัน และสร้างสมอารยธรรมมากมาย โดยเฉพาะเมืองสะเทิม ที่มีความเจริญยิ่งกว่าอาณาจักรใดๆ ในบริเวณใกล้เคียง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ในด้านวัฒนธรรม ศาสนา และการค้า


         เมื่อพม่าอพยพเข้ามาอยู่ทางตอนเหนือ และตั้งอาณาจักรขึ้นเป็นปึกแผ่นได้ที่พุกาม ก็ได้แผ่อำนาจลงมารุกรานมอญ จนกระทั่งต้องเสียอิสรภาพแก่พม่าใน พ.ศ.๑๖๐๐
          หากแต่อารยธรรมมอญกลับไปเจริญรุ่งเรืองเหนืออิทธิพลพม่า โดยพระเจ้าอนิรุธ (Anawrahta – พ.ศ.๑๕๘๗ ๑๖๒๐) ได้กวาดต้อนนักปราชญ์ราชบัณฑิต และช่างฝีมือจากสะเทิมไปยังพุกาม อารยธรรมมอญจึงได้หล่อหลอมเป็นศิลปวัฒนธรรมของพม่า ทั้งในด้านการปกครอง ศาสนา ภาษา และสถาปัตยกรรม
          ในปี พ.ศ. ๑๘๓๐ พระเจ้าฟ้ารั่ว หรือ วาเรรุ (Wareru) ได้กอบกู้เอกราชแห่งอาณาจักรมอญ และสถาปนาราชวงศ์ชาน-ตะเลง (Shan – Talaing) ขึ้น อาณาจักรมอญในสมัยนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่เมาะตะมะ ในปี พ.ศ.๑๙๑๒ ได้มีการย้ายเมืองหลวงจากเมาะตะมะไปยังหงสาวดี เพื่อให้ปลอดภัยจากการโจมตีของไทย ราชวงศ์ชาน-ตะเลงได้ปกครองสืบต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๐๘๗
ในปี พ.ศ.๒๐๘๒ ราชวงศ์ตองอูของพม่าเข้ามารุกรานและรวมอาณาจักรมอญเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าอีกครั้ง
          ในรัชสมัยของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ (Tabinshwehti พ.ศ.๒๐๗๔ ๒๐๙๓) ทรงมีนโยบายที่สมานไมตรีกับมอญ และรวมมอญกับพม่าเข้าเป็นชาติเดียวกัน ถึงกับทรงย้ายราชธานีมาอยู่ที่หงสาวดี และรับอารยธรรมต่างๆ จากมอญมาใช้ในพม่า
          หากเมื่อสิ้นรัชกาล กษัตริย์พม่าองค์ต่อๆ มาปกครองมอญอย่างกดขี่ ทั้งเรื่องภาษี และการเกณฑ์แรงงานในยามสงบและยามสงคราม จนที่สุดในปลายราชวงศ์ตองอู เมื่อพม่าต้องเผชิญศึกฮ่อและไทย มอญก็รวบรวมกำลังและประกาศอิสรภาพอีกครั้งใน พ.ศ.๒๒๘๓ โดยมี สมิงทอพุทธเกษ (Sming Htaw Buddhaketi พ.ศ.๒๒๘๓ ๒๒๙๐) เป็นหัวหน้า
          ในพ.ศ.๒๒๙๐ พระยาทะละ (Binnya Dala พ.ศ.๒๒๙๐ ๒๓๐๐) ได้ครองอำนาจต่อจากสมิงทอ และพ่ายแพ้ต่อพม่าคือ พระเจ้าอลองพญา ซึ่งตีกองทัพมอญจนแตกพ่ายต้องถอยออกจากที่มั่นทางเหนือ พระเจ้าอลองพญายังได้ยกทัพตามลงมาปราบมอญจนถึงหงสาวดี และได้มอญไว้ในอำนาจโดยเด็ดขาดในปี พ.ศ.๒๓๐๐ มอญถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของพม่านับแต่นั้น มิได้กลับฟื้นฟูชาติมอญขึ้นได้อีกจนปัจจุบัน


          อาณาจักรมอญมีความสำคัญต่อพม่าอย่างมากทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์ มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศทางทะเล  จึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพม่า
          นอกจากนี้มอญยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ด้วยตั้งอยู่ระหว่างไทยกับพม่าซึ่งเป็นศัตรูกัน พม่าได้อาศัยเมืองมอญเป็นฐานทัพและเส้นทางการเดินทัพเข้ามารบกับไทย และยังอาศัยระดมพลกับเสบียงอาหารเข้าร่วมในกองทัพเพื่อทำสงครามด้วย 

ความคิดเห็น