ตำนานการสร้างเมืองหงสาวดี

         มีเจ้าชายสองพี่น้องจากสะเทิมคือ เจ้าชายสามะละ และ วิมละ ได้มาตั้งเมืองหงสาวดีขึ้นบนเกาะซึ่งงอกออกจากทะเลอันเป็นบริเวณที่พระพุทธองค์ทรงเห็นหงส์ทอง ๒ ตัวเล่นน้ำอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี ความตอนนี้ในพงศาวดารกล่าวไว้ว่า
          “เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงประเทศที่จะตั้งเมืองหงสาวดีนั้น พระองค์ผินพระพักตร์ตรงไปข้างทิศตะวันออก ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นหงส์ทองสองตัวลงเล่นน้ำอยู่ พระองค์จึงทรงทำนายว่า การสืบไปภายหน้าประเทศที่หงส์ทองทั้งสองลงเล่นน้ำนั้นจะเป็นมหานครขึ้น ชื่อว่าเมืองหงสาวดี และจะเป็นที่ตั้งพระธาตุสถูปเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระศาสนาคำสั่งสอนของเราจะรุ่งเรืองตั้งอยู่ในที่นี้ พระองค์ทรงทำนายไว้ดังนี้”
           เจ้าชายสามะละพระเชษฐาส่งพระอนุชาไปศึกษาต่อในอินเดีย โดยสัญญาว่าเมื่อกลับมาจะถวายราชสมบัติให้ ครั้นเจ้าชายวิมละเสด็จกลับมาพระองค์กลับไม่ทำตามสัญญา ทำให้เจ้าชายวิมละกบฏและปลงพระชนม์กษัตริย์ ยึดราชบัลลังก์เสีย พระมเหสีของเจ้าชายสามะละนำพระโอรสหลบหนีไปอยู่นอกเมืองบริเวณทุ่งที่เลี้ยงควาย เจ้าชายน้อยเติบโตขึ้นมาเป็นชายหนุ่มที่สง่างาม กล้าหาญและเข้มแข็ง เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา มีเรือพ่อค้าอินเดียมาท้ากษัตริย์ให้รบกับทหารอินเดียตัวสูงใหญ่โดยพนันเอาเมืองหงสาวดีกัน 
         กษัตริย์ประกาศหาผู้อาสาไปรบแต่ไม่มีใครอาสาเลย วันหนึ่งนายพรานออกไปล่าสัตว์ในป่า ได้พบชายหนุ่มท่าทางเข้มแข็งอยู่ท่ามกลางฝูงควายป่าที่ดุร้ายก็แปลกใจ นำความไปกราบทูลกษัตริย์ พระองค์ให้นำชายผู้นั้นมาเฝ้า เมื่อได้พบจึงทราบว่าเป็นพระราชนัดดาของพระองค์เอง ก็ทรงละอายต่อความผิดที่กระทำมา ชายหนุ่มนั้นอาสาออกรบและได้ชัยชนะกลับมา กษัตริย์ทรงยินดีเป็นอย่างยิ่งจึงคืนราชบัลลังก์ให้เป็นการตอบแทน


ทราบหรือไม่ว่า...?

หงส์เป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ และมีรูปหงส์อยู่ในธงชาติมอญ

สตรีชาวไทยรามัญนิยมประดับตกแต่งร่างกายและเก็บสะสมเครื่องประดับที่เป็นรูปหงส์ ที่มีทั้งคุณค่าและความงาม และเพื่อระลึกถึงความเจริญรุ่งเรืองแห่งชนชาติมอญ

หากเข้าไปในวัดใดแล้วมีเสาหงส์และธงตะขาบแขวนอยู่ นั่นเป็นวัดมอญ 




ความคิดเห็น