การอพยพเข้าสู่ประเทศไทย
๑. เข้ามาในฐานะเชลยสงคราม เช่น ใน
พ.ศ.๒๑๓๘ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพไปตีหงสาวดี แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
เมื่อยกทัพกลับ ทรงได้กวาดต้อนครอบครัวมอญในหงสาวดีเข้ามาเป็นเชลย
๒. การเข้ามาโดยหลบหนีออกจากกองทัพพม่า ซึ่งมักเกณฑ์ชาวมอญไปทำสงครามเสมอ
เช่น การอพยพในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ราว พ.ศ.๒๒๐๕ คราวพม่าเกณฑ์มอญไปรบศึกฮ่อ
๓. เข้ามาในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง
ภายหลังจากก่อการกบฏและถูกปราบ เช่น การอพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
หรือเข้ามาเมื่อไม่พอใจสภาวะความเป็นอยู่ของตน ถูกพม่ากดขี่ เบียดเบียน
อย่างในการอพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ชาวมอญได้รับความเดือดร้อนทั้งเรื่องการเก็บภาษีและการเกณฑ์แรงงาน
และต้องอาศัยอยู่ระหว่างไทยกับพม่าซึ่งเป็นศัตรูกัน
จึงพากันอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทย สภาพสังคมไทยกับมอญยังมีความคล้ายคลึงกันในทุกด้าน
ในเมืองไทยนั้นมีเสรีภาพ กษัตริย์ไทยให้การต้อนรับในทุกโอกาส ชาวมอญที่อพยพเข้ามาส่วนใหญ่มาจากเมืองเมาะตะมะ
ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนไทย และเป็นชุมทาง นอกจากนี้ยังมีมอญอพยพจากเมืองอื่นๆ เช่น
หงสาวดี เมาะลำเลิง แครง เริง เป็นต้น
เส้นทางที่ใช้ในการอพยพ
๑. ทางเหนือ
ตั้งต้นจากเมืองเมาะตะมะ เข้ามายังเมืองตากหรือระแหง ทางด่านแม่ละเมา เข่น
การอพยพในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ใน พ.ศ.๒๓๑๗ มีสมิงสุหร่ายกลั่นเป็นหัวหน้า
เป็นเส้นทางเดียวกับที่ทัพพม่ายกเข้ามา และเป็นเส้นทางค้าขาย
๒. ทางใต้ ตั้งต้นจากเมืองเมาะตะมะ เข้ามายังเมืองกาญจนบุรี
ทางด่านเจดีย์สามองค์ เป็นเส้นทางที่ใช้กันมาก เช่น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
เป็นเส้นทางเดียวกับที่ทัพพม่ายกเข้ามา และเป็นเส้นทางค้าขาย
๓. ตั้งต้นจากเมืองเมาะตะมะ
เข้ามาทางเมืองอุทัยธานี เช่น การอพยพในสมัชรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราว
พ.ศ.๒๓๕๓
๔. อีกเส้นทางหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารมอญ-พม่า
คือเข้ามาทางเชียงใหม่ เป็นเส้นทางที่พระยารามัญ ๓ คน คือ พระยาราม พระยากลางเมือง
และพระยาน้อยวันดี ใช้ในการอพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีการอพยพของชาวมอญครั้งสำคัญ
๗ ครั้ง เป็นการอพยพในสมัยอยุธยา ๕ ครั้ง คือ
-
สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.๒๑๑๒-๒๑๓๓)
-
สมัยสมเด็จพระนเรศวร (พ.ศ.๒๑๓๓-๒๑๔๘)
-
สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๓-๒๑๙๘)
-
สมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑)
-
สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕-๒๓๐๑)
ส่วนอีก ๒ ครั้งเป็นในสมัยรัชกาลที่ ๒
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีการอพยพครั้งย่อยๆ เข้ามาอยู่เรื่อยๆ
เนื่องจากพม่าปกครองมอญอย่างกดขี่
และในสมัยพระเจ้าอลองพญาก็ยังมีนโยบายปราบปรามมอญอีกด้วย
ถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย
ชาวมอญที่อพยพเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะได้รับพระราชทานที่ดินทำกินอยู่ในกรุงศรีอยุธยาหรือแถบชานพระนคร
ครั้นในสมัยกรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯให้มอญที่อพยพเข้ามาไปอยู่ที่ปากเกร็ด
แขวงเมืองนนทบุรี และที่สามโคก แขวงเมืองปทุมธานี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒
ได้โปรดให้สร้างเมืองขึ้นที่ปากลัด โดยตัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพมหานคร
กับแขวงเมืองสมุทรปราการ รวมกันตั้งเป็นเมืองใหม่ พระราชทานชื่อว่า “เมืองนครเขื่อนขันธ์”
บริเวณที่มีชาวมอญตั้งหลักแหล่งอยู่กลุ่มใหญ่ได้แก่
-
ปากเกร็ด นนทบุรี
-
สามโคก ปทุมธานี และ
-
นครเขื่อนขันธ์ หรือปากลัด หรือพระประแดง สมุทรปราการ
รองลงมาได้แก่
ตามลำน้ำแม่กลองในอำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
และในจังหวัดกาญจนบุรี ที่มหาชัย
จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดลพบุรี และอุทัยธานี ทางภาคเหนือจะพบในจังหวัดลำปาง ลำพูน
เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีกระจัดกระจายในจังหวัดอื่นๆ อีก เช่น สมุทรสงคราม
เพชรบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครราชสีมา นครสวรรค์
ปราจีนบุรี เป็นต้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น