บรรยากาศงานนิทรรศการ

        งานนิทรรศการเพิ่งผ่านไป วันนี้ได้ฤกษ์เก็บงาน กิ่งไม้ใบหญ้าที่ขนมาประดับประดาก็เหี่ยวเฉาหมดอายุการใช้งานไปแล้ว ดังนั้นก่อนจะเข้าสู่บทความที่แสดงเนื้อหาสาระของชุมชนมอญ ขอนำเสนอภาพบรรยากาศในงานก่อนสักเล็กน้อย


        เนื่องจากงานนี้จัดที่ชั้น 4 หน้าห้องพัฒนาชุมชน โครงสร้างของงานเป็นรูปตัวแอล มีเหลี่ยมมุมให้จัดวางข้าวของได้ และมีการติดพร็อพประดับในงานลุกลามไปตามบันไดชั้น 3 และชั้น 5 อีกเล็กน้อยเพื่อเรียกแขกมาเข้าชมงาน มีคำถาม(หลังจากจัดงานแล้ว)ว่าทำไมมาจัดที่ชั้น 4 ก็เนื่องจากแผนที่และโปสเตอร์ข้อมูลสามโคกของเราอยู่ที่นี่ การจัดนิทรรศการรวมข้อมูลสนามชาวมอญของนักศึกษาพัฒนาชุมชนครั้งนี้ก็เลยเป็นการขยายความจากสามโคกออกไปยังชุมชนมอญบ้านอื่นๆ


        เริ่มต้นที่ป้ายชื่องานก่อนเลย ป้ายนี้ได้มาด้วยความกรุณาของคุณลุงสวัสดิ์ เจิมเครือ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วงที่บ้านโป่ง ราชบุรี คุณลุงกำลังสอนพวกผู้ชายฟั่นเชือกเป็นไส้กระทงสาย ที่เรียกว่า "ตีนกา" แล้วก็คล้ายๆ ว่ามีคนไปขอให้คุณลุงเขียนชื่อเป็นภาษามอญ มีการยื่นกระดาษกันอุตลุด ก็เลยทำเนียนยื่นไปบ้าง ขอชื่อนิทรรศการเป็นภาษามอญ ก็จะเห็นในแผ่นป้ายใบปิดโฆษณาและในงานนี่แหละ สิ่งที่ติดตั้งป้ายชื่องานนี้ก็เป็นเทคโนโลยีของนักศึกษา คือแท่นหมุน ผู้จัดทำภูมิใจนำเสนอมาก เพราะหมุนได้จริง ...


        ส่วนที่สองคือแผนที่ถิ่นที่อยู่ชาวมอญในสยาม คณะผู้จัดทำใช้เวลาในการพูดคุยปรึกษาหารือร่างโครงการและอื่นๆ อีกมากอยู่นานทีเดียว นานจนโดนยึดวัสดุอุปกรณ์ที่ฝากซื้อมาทำแผนที่ไปรอบหนึ่งแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏวี่แวว เรียกว่างานจะขึ้นอยู่แล้วยังไม่รู้เลยแผนที่จะขึ้นได้หรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ออกมางดงามสมกับการรอคอย ส่วนที่พิมพ์ผิดก็ยอมแก้ให้แต่โดยดี


        ส่วนที่สามเป็นไฮไลท์ที่ต้องระดมสรรพกำลังมาจากชั้นปีอื่นด้วยเพื่อให้เกิดขึ้นมาได้ คือซุ้มวิหารและตู้พระธรรม ได้แนวคิดมาจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง จากคัมภีร์งาช้างอันสวยงามที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ และตู้พระธรรม หรือหีบพระธรรมที่งดงาม ที่มีจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จากหลากหลายที่ เช่น วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง วัดพระบรมธาตุ จังหวัดตาก และที่วัดม่วง จังหวัดราชบุรี ด้วยเช่นกัน ซุ้มนี้เดิมทีจะจัดแสดงข้อมูลบนธงตะขาบ แต่ด้วยเหตุที่ทำออกมาแล้วดูสง่าและขลัง (ถ่ายคลิปวิดีโอไม่ค่อยติด ไม่รู้ว่าขลังหรือมืดไปกันแน่) จึงตัดสินใจตั้งแสดงเป็นซุ้มวิหารและตู้พระธรรม พร้อมคัมภีร์ใบลานด้านบนตู้พระธรรมด้วย แล้วย้ายเนื้อหาที่จะจัดแสดงไปยังซุ้มอื่น



        ภาพนี้เป็นการลงทะเบียนเข้าชมงาน เป็นไอเดียของปี 2 ห้อง 2 ใช้เวลาในการจัดเตรียมแผ่นนี้เท่ากับเวลาในการจัดเตรียมเนื้อหาวิชาการทั้งหมดโดยประมาณ ถ้าเขียนหนังสือไม่ถนัดขอให้มีนิ้วมือมาเป็นใช้ได้ แปะหมึกแล้วลงทะเบียนได้เลย



        ซุ้มที่ 2 นี้เป็นซุ้มที่ปี 4 ไปขนมาด้วยความยากลำบากจากที่แสนไกล แล้วไม่ยอมใช้ เลยให้ปี 2 จัดการตกแต่งประดับประดาเป็นซุ้มจัดแสดงเนื้อหาประเพณี มีพร็อพประกอบเยอะมาก ส่วนที่ถกเถียงกันมากคือเครื่องเทศในโตก เนื่องจากเป็นพร็อพ คนจัดไม่คิดมาก แต่คนดูคิดมาก ตกลงเป็นเครื่องเทศมอญหรือเปล่า ... งานจบแล้วขอเฉลยละกันนะ ...ไม่ใช่จ้ะ เครื่องเทศทำลาบเหนือ ได้มาจากดอยมูเซอ จังหวัดตาก ...


        ต่อมาเป็นกระทงสายที่สวยงามน่ารักจากฝีมือ(สมัครเล่น)ของปี 2 และปี 4 กระทงสายนี้ผู้ใหญ่สอางค์ ประธานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วงได้กรุณาฝึกสอนให้ในระหว่างเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ตัวกระทงนั้นเป็นฝีมือฝ่ายหญิง เฉพาะไส้กระทง คุณลุงสวัสดิ์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ได้จัดเทรนนิ่งพวกผู้ชายให้เป็นกรณีพิเศษ


        นอกจากภาพรวมของความรู้มอญแล้ว ยังมีข้อมูลสนามของแต่ละพื้นที่ซึงนักศึกษาแบ่งกลุ่มไปแยกเป็นบอร์ดต่างหากอีกด้วย ได้แก่ มอญอโยธยา หรือบ้านมอญที่บางปะอิน, บ้านมอญที่บ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง และมอญเกาะเกร็ด นนทบุรี
         
       ภาพบรรยากาศของงานยังไม่หมดเท่านี้ มีของสวยๆ งามๆ ที่นักศึกษาช่วยกันทำทั้งโดยการบังคับขู่เข็ญ และด้วยความตั้งใจของตัวเอง บางส่วนได้รับอภินันทนาการจากชาวบ้าน แต่งานนี้มีส่วนร่วมกันทั้ง 4 ชั้นปี คือปี 4 เป็นเจ้าภาพหลัก ปี 2 เป็นแผนกงานสนามและงานไอที ปี 3 ให้ยืมช่างฝีมือและให้ความสนับสนุนเป็นอย่างดี ส่วนปี 1 มาเข้าชมงานด้วยความตั้งใจค่ะ ส่วนอื่นๆ ขอนำเสนอรายละเอียดต่อเป็นบทความถัดไปนะคะ

ความคิดเห็น